ปรึกษาทนายเรื่องการริบทรัพย์ในคดีอาญา

                   โทษริบทรัพย์ตามกฎหมายอาญา

กฎหมายอาญามาตรา 32 ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

เป็นกรณีกฎหมายบัญญัติให้ริบทรัพย์โดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น ปืนเถื่อน ยาบ้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2565
แม้จำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) โดยถูกต้อง แต่จำเลยไม่ดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ภายในอายุใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) เช่นนี้ ถือได้ว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ อาวุธปืนของกลางจึงเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งว่าเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทางทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ อันเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ต้องริบเสียทั้งสิ้น ตาม ป.อ. มาตรา 32 ด้วยเหตุนี้ จำเลยจะอ้างเหตุว่าภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้จดทะเบียนให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางถูกต้องเรียบร้อยแล้ว มาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อมิให้ริบอาวุธปืนของกลางไม่ได้

มาตรา 33 ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
              1 ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
              2 ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
              เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด”

ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการริบทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038/2563
จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุ จากนั้นใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงพาหนะที่ใช้พาไปยังที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้

                     การริบรถยนต์

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๖๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ขอให้ศาลริบรถยนต์กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง จำคุก ๓ เดือน ริบรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาในปัญหาว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) หรือไม่ เห็นว่า การขับรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางที่มีการทำหลังคาฝาปิดด้านข้างและด้านท้ายจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจังหวัดสมุทรปราการมีระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินไปได้เอง เพราะต้องขับข้ามผ่านหลายจังหวัด จำเลยจำเป็นต้องใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะพาคนต่างด้าวทั้งสามเดินทางไป โดยใช้วิธีการให้นายซ. กับนายม. หลบซ่อนอยู่ในช่องใต้หลังคาด้านบนของหัวรถ แล้วใช้ถังน้ำมันจำนวนหลายถังปิดบังไว้ อันเป็นการซ่อนเร้นคนต่างด้าวดังกล่าว จึงมิใช่การใช้รถยนต์ของกลางตามสภาพอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป อันเป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่มุ่งประสงค์จะใช้รถยนต์ของกลางในการช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสามพ้นจากการจับกุม รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลมีอำนาจริบรถยนต์ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๘/๒๕๖๖)

 

ปรึกษาทนายโทร 0838843287

Visitors: 215,358