ปรึกษาคดีแรงงานฟรี โทร 0838843287

 

                                        ทนายคดีแรงงาน 

คดีแรงงานคือ ข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม จัดหางาน ประกันสังคม เงินทดแทน อุทธรณ์คำวินิจฉัยเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน เป็นต้น

องค์คณะ : ผู้พิพากษาศาลแรงงาน ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง

การพิจารณาคดี : ระบบไต่สวน

ศาลชั้นต้น : ศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานภาค 1-9

ค่าขึ้นศาล : คดีแรงงานไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 27) รวมทั้งไม่เสียค่าทนายความใช้แทน ด้วย

รูปแบบการดำเนินคดี (ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง จะทำพร้อมกันไม่ได้) :

1. ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานโดยตรง หรือ

2. ยื่นข้อร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่

การยื่นคำให้การ : ทำเป็นหนังสือก่อนวันนัด (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 37)

อุทธรณ์ ต้องอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และคดีถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ ตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน หมวด 4 อุทธรณ์ มาตรา 54

ฎีกา : จะต้องได้ขออนุญาตฎีกา โดยให้ยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลแรงงานชั้นต้น ภายใน 1 เดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

 

นายจ้างเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ม.123 : ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง และต้องวางเงินต่อศาล ตามคำสั่งให้ครบถ้วนก่อน (สามารถขอขยายได้ตามดุลพินิจของศาล) …

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2551

   การวางเงินต่อศาลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่เป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลต้องปฏิบัติ เพื่อให้เป็นการฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่มีหน้าที่ต้องสั่งหรือเตือนให้นายจ้างที่เป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลวางเงินดังกล่าว

   โจทก์ผู้เป็นนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ออก ตามมาตรา 124 โดยไม่วางเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 125 วรรคสาม โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลไม่ได้

 

อายุความคดีแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12

อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ได้แก่

ค่าชดเชย (มาตรา 118)

ค่าชดเชยพิเศษทุกจำนวน (มาตรา 120, 121, 122)

เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

เงินบำเหน็จเกษียณอายุ

เงินประกันการทำงาน

ค่าปรับตามสัญญาจ้าง

อายุความ 5 ปี ตามอาญา มาตรา 95(4) โดยอ้างอิงโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 144 ที่จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ได้แก่

ค่าล่วงเวลา (มาตรา 61)

ค่าทำงานในวันหยุด (มาตรา 62, 64)

ค่าล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 63, 64)

ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (มาตรา 67)

ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 70)

ค่าจ้างกรณีนายจ้างให้ลูกจ้างเดินทางไปทำงานท้องที่อิ่น (มาตรา 71, 72)

ค่าจ้างตามอัตราขั้นต่ำ (มาตรา 90)

ทายาทลูกจ้างเรียกค่าจ้าง

อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (8), (9) ได้แก่

ค่าจ้างตามสัญญาจ้าง (มาตรา 5)

ค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปี (มาตรา 56, 67, 71, 72)

เงินที่จ่ายแทนค้าจ้าง ระหว่างหยุดกิจการ (มาตรา 75) ระหว่างหยุดใช้เครื่องจักร (มาตรา 105) หรือระหว่างพักงาน (มาตรา 116, 117)

ค่าล่วงเวลา (มาตรา 5, 61, 65, 72, 74)

ค่าทำงานในวันหยุด (มาตรา 5, 62, 64, 66, 74)

ค่าล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 5, 63, 64, 65, 72, 74)

ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พัก

เงินโบนัส

 

อายุความ คดีฟ้องเรียกค่าปรับตามสัญญาจ้างแรงงาน 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2512

   กรมป่าไม้ทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางซึ่งเจ้าพนักงานป่าไม้จับได้และยังอยู่ที่ตอที่ถูกตัดโค่นในป่าระบุชื่อสัญญาว่า 'สัญญาจ้างเฝ้ารักษา' มีข้อสัญญาว่าผู้รับจ้างยอมรับเฝ้ารักษาไม้ของกลางโดยคิดอัตราค่าจ้างเป็นรายท่อนต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญาถ้าไม้ซึ่งรับจ้างเฝ้ารักษาขาดหายหรือเป็นอันตรายผู้รับจ้างยอมให้ปรับไหมเป็นรายท่อนตามจำนวนที่สูญหายหรือเป็นอันตราย ระหว่างเวลาที่ผู้รับจ้างรับผิดชอบเฝ้ารักษากรมป่าไม้ผู้จ้างอาจขนไม้ของกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใดๆ ก็ได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบและทำใบรับไม้ให้ไว้ สัญญานี้เป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาฝากทรัพย์ เพราะอำนาจการครอบครองไม้ของกลางยังอยู่แก่กรมป่าไม้ผู้จ้างผู้รับจ้างเพียงแต่เฝ้ารักษาระวังมิให้ผู้ใดมาลักหรือเกิดภัยพิบัติไม้ของกลางยังอยู่ในป่าตามเดิม ผู้รับจ้างมิได้ชักลากไปเก็บไว้ในความอารักขาของตน

   สิทธิเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะจึงอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนดสิบปี

 

ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม ม.9

หากนายจ้างไม่คืนหลักประกัน ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ภายในกำหนดเวลา

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

หากไม่คืน เป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ของทุกระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจะจ่ายครบ

ขั้นตอนกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงาน

1. ใช้ระบบไต่สวน ศาลจะเป็นผู้ถามคำถามเอง ไม่มีถามค้าน-ถามติง ทนายทั้งสองฝ่ายหรือคู่ความ ถ้าต้องการจะถามเพิ่มเติมต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลมีอำนาจตัดพยานได้เลย ตามเจตนารมณณ์ของกฎหมายแรงงาน คือ คดีต้องไม่เยิ่นเย้อ

2. ฉะนั้น จำเป็นต้องส่งบันทึกคำเบิกความให้ศาลและคู่ความอีกฝ่าย ก่อนวันนัดสืบพยาน ไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ศาลตรวจดูพยาน เพื่อเตรียมไต่สวน

3. หัวใจของการถามเพื่อได้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ถามเพื่อทำลายน้ำหนัก

4. พยานสามารถเข้ามาฟังการพิจารณาพร้อมกันได้ (ไม่ต้องรอนอกห้องพิจารณาคดี)

5. แม้จะพิจารณาไปแค่ไหนแล้ว ศาลสามารถให้ทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยได้เสมอ

6. ผู้พิพากษาสมทบ(จากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง) นำเสนอความเห็นในมุมมองของฝ่ายตนเองเท่านั้น ส่วนข้อกฎหมายผู้พิพากษาศาลแรงงานเป็นผู้กำหนดเอง

 

 

Visitors: 107,021