คดีแจ้งความเท็จ
แจ้งความเท็จ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ได้นิยามความหมายเป็นบททั่วไปไว้ว่า
.
“ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
แจ้งความเท็จอันเกี่ยวกับความผิดอาญา
การแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงาน สอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หากกระทำเพื่อจะแกล้งให้บุคคลต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้นย่อมมีความผิดตามมาตรา 174 กล่าวคือ
มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
1. ผู้แจ้งความเท็จนั้นอาจเป็น บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็ได้
2. การแจ้งความเท็จอาจทำโดย
– การบอกกับเจ้าพนักงาน
– การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน
– การแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐาน
3. ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง ‘อนาคต’ ไม่เป็นความเท็จ
4. การแจ้งความเท็จนั้นต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคต
5. การแจ้งความเท็จนั้น ผู้แจ้งต้องกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ ต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้งเพราะหากแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา
*** หลักสำคัญในคดีแจ้งความเท็จคือ ต้องแจ้งข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เช่น หมาสีดำกัดคน ไปแจ้งว่า หมาสีขาวอีกตัวกัดคน แต่ถ้ความจริงไปแจ้งแต่เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข้อกฎหมาย ไม่ผิดแจ้งความเท็จ เช่น ร่วมลงทุนแล้วเสีย ขาดทุนจริง ไปแจ้งว่ายักยอก ไม่เข้าความผิดยักยอก แบบนี้ไม่ใช่การแจ้งความเท็จ