ทนายคดีปกครอง

                                คดีปกครอง

คดีปกครอง  คือ คดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ  หน่วยงานของรัฐ  เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองหรือกับเอกชน

              คดีใดต้องฟ้องศาลปกครอง

             1. 1 คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

             1. 2 คดีเจ้าหน้าที่รัฐ  กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ

             1. 3 การกระของหน่วยงานทางปกครอง ออกคำสั่ง  ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ  ขั้นตอน  หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ  เช่น  คำสั่งลงโทษทางวินัย  ที่ไม่ได้รับข้อโต้แย้งอย่างครบถ้วน

              1.4  การออกคำสั่งทางปกครอง โดยไม่สุจริต  การสร้างขั้นตอนเกินสมควร  การใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

              2   คดีเจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่  เช่น  มีการร้องเรียนเรื่องมลพิษต่อเขต  แล้วเขตไม่ดำเนินการ

              3    คดีความรับผิดทางละเมิดทางเจ้าหน้าที่

              4    คดีอันเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

                    สัญญาทางปกครอง        คือ     สัญญาเกี่ยวกับการบริการสาธารณะ  สัญญาสัมปทาน  สัญญาการหาผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

                5   คดีที่หน่วยงานรัฐกำหนด บังคับให้บุคคลกระทำการ

 

                             การฟ้องคดีปกครอง และระยะเวลาฟ้องคดีปกครอง

การฟ้องคดีปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ

1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่เป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสาคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คือ กรณีที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่มีอำนาจริเริ่มใช้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำต้องรอให้มีผู้ยื่นคำขอให้ดำเนินการต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี และกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจริเริ่มใช้ได้ด้วยตนเอง หากแต่จะดำเนินการได้เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องขอเท่านั้น ต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล

การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

การรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีกรณีการเลิกสัญญาทางปกครองซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนำวิธีการบอกเลิกสัญญาทางแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 386 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 169 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังผู้ถูกฟ้องคดีตามที่อยู่ที่ปรากฏในหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลแต่ไม่มีผู้รับ จึงถือว่าไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาเมื่อที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวพร้อมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำเงินไปชำระค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งหนังสือดังกล่าว โดยวิธีปิดหนังสือ ณ ภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้องคดี ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับจากวันที่ปิดหนังสือดังกล่าว

4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคลตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52

การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล หรือสถานะในครอบครัว เช่น เพศ อายุ บิดามารดา บุตร สามีภริยา เป็นต้น

Visitors: 215,195